ในประเทศไทยมีสัตว์ตระกูลแมวอาศัยอยู่ในผืนป่า 9 ชนิด แบ่งตามหลักอนุกรมวิธานได้ 6 สกุล จำแนกตามขนาดได้เป็น นักล่าขนาดใหญ่ ได้แก่ เสือในสกุล Panthera คือ เสือโคร่ง เสือดาวหรือเสือดำ นักล่าขนาดกลาง ได้แก่ เสือในสกุล Neofelis คือ เสือลายเมฆ และเสือในสกุล Catopuma คือ เสือไฟ และนักล่าขนาดเล็ก ได้แก่ เสือในสกุล Felis คือ เสือกระต่าย หรือแมวป่า และเสือในสกุล Prionailurus ได้แก่ เสือปลา แมวป่าหัวแบนและแมวดาว เสือส่วนมากเป็นสัตว์ที่หายาก มีพฤติกรรมการหากินในเวลากลางคืน ทำให้ไม่สามารถระบุจำนวนประชากรได้แน่ชัด
การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าให้คงอยู่ต่อไปนั้นอาจกระทำได้หลายวิธี วิธีที่ดีที่สุดคือการปล่อยให้สัตว์อยู่ในป่าธรรมชาติ โดยการป้องกันไม่ให้มีการทำลายสัตว์ป่าและถิ่นที่อยู่ของสัตว์ วิธีนี้สัตว์ป่าจะคงดำรงชีวิตอยู่ต่อไปโดยธรรมชาติ และหากถิ่นที่อยู่มีบริเวณกว้างพอ พืชและสัตว์ต่าง ๆ ก็จะจัดการให้เกิดความสมดุลขึ้นเองโดยธรรมชาติ และดำรงอยู่ได้โดยไม่สูญพันธุ์ไป แต่ในปัจจุบันถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าถูกทำลายลงในอัตราที่รวดเร็วทำให้การอนุรักษ์สัตว์ป่าในพื้นที่ธรรมชาติเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ดังนั้น การนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงในกรงเลี้ยงเพื่อการขยายพันธุ์จึงเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าต่าง ๆ ไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ได้
การนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงในกรงเลี้ยงจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สามารถศึกษาได้หลายส่วน เช่น การศึกษาชีวิตและพฤติกรรมของสัตว์ป่าเพิ่มเติมจากที่ได้ศึกษาสัตว์ป่าที่แท้จริง ใช้แทนสัตว์ป่าในการศึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงดูและจัดการสัตว์ป่า ใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์เพื่อเปลี่ยนสายเลือดสัตว์ในป่า และผสมพันธุ์สัตว์ป่าขึ้นมาทดแทนสัตว์ในป่าบางชนิดที่มีโอกาสอยู่รอดน้อยหรือกำลังจะสูญพันธุ์
การเลี้ยงสัตว์ป่าในกรงเลี้ยงทำให้สัตว์มีอายุยืนขึ้นกว่าอาศัยในธรรมชาติ และอาจจะยังมีความเครียดจากถิ่นที่อยู่ที่ไม่ใช่สภาพตามปกติในธรรมชาติ การผสมพันธุ์ที่อาจจะไม่ได้มีความหลากหลาย อาจทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นได้ โรคหลาย ๆ อย่างจึงสามารถพบได้ในสัตว์ป่าในกรงเลี้ยง
โรคตา
โรคตา เป็นโรคที่พบได้ในสัตว์ป่าตระกูลแมวในกรงเลี้ยงซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งจากความผิดปกติแต่กำเนิด หรือเป็นโรคที่ได้รับบาดเจ็บ หรือมีปัญหาเกิดขึ้นในภายหลัง โรคหลาย ๆ โรค เป็นโรคที่แม้กระทั่งคนเราเองก็สามารถเกิดได้ สัตว์ตระกูลแมวทั้งแมวป่าหรือแมวบ้านก็สามารถเกิดปัญหาได้เช่นเดียวกัน
ดวงตาของสัตว์ตระกูลแมว นั้นมีความเป็นเอกลักษณ์ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้าง ด้านการมองเห็น และด้านการตอบสนองเมื่อเกิดโรค ดวงตาของสัตว์นั้นเป็นอวัยวะที่โครงสร้างมีความซับซ้อน สามารถรับแสงในที่ที่มีแสงน้อยได้ดีมากกว่ามนุษย์ถึง 130 เท่า แมวบ้านสามารถมองเห็นในที่ที่มีแสงน้อยได้ดีกว่ามนุษย์ถึง 6 เท่า เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น จะทำให้การใช้ชีวิตในธรรมชาติเป็นไปด้วยความลำบาก และสุ่มเสี่ยงต่อการถูกล่า ทำร้ายและตายไป แต่เมื่ออยู่ในกรงเลี้ยง เราจึงสามารถตรวจพบและสามารถศึกษาเกี่ยวกับโรคหรือความผิดปกติได้ การเกิดโรคตาต่าง ๆ ในสัตว์ตระกูลแมวสามารถเกิดความผิดปกติหลาย ๆ อย่างเช่นเดียวกับที่เกิดในมนุษย์
โรคที่พบได้บ่อยในสัตว์ตระกูลแมวในกรงเลี้ยง
โรคหรือความผิดปกติแต่กำเนิด
มีรายงานความผิดปกติเกี่ยวกับความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น การคงอยู่ของเนื้อเยื่อ pupillary membrane (persistent pupillary membrane: PPM) ให้มายึดที่ผนังกระจกตาด้านใน ทำให้กระจกตาขุ่น หนังตาแหว่ง เนื่องจากพัฒนาไม่สมบูรณ์ (eyelid agenesis, eyelid coloboma) ตาเข พบในเสือขาว บางตัวจะพบร่วมกับการมองเห็นที่ไม่ดีตั้งแต่เกิดได้
โรคต้อหินแต่กำเนิด ต้อกระจกแต่กำเนิด ก็เป็นโรคที่พบได้และทำให้ตาบอด เป็นต้น
ภาพที่ 1 และ 2 ลักษณะของกระจกตาที่ขุ่นเนื่องจากเยื่อ pupillary membrane ยังคงเหลืออยู่ (persistent pupillary membrane: PPM) เมื่อลูกเสือโตขึ้น เนื้อเยื่อจึงสลายไปบางส่วน ทำให้กระจกตาใสขึ้นดังในภาพที่ 2
ภาพที่ 3 ลักษณะตาเข (convergent strabismus, medial strabismus) พบในเสือขาว
โรคที่ได้รับมาหรือเป็นในภายหลัง
ต้อกระจก (cataract)
เป็นโรคที่ทำให้แก้วตาหรือเลนส์ตาขุ่น บดบังแสงที่จะเข้าไปสู่จอประสาทตา ทำให้การมองเห็นลดลง หรือบอด มองไม่เห็นได้ มีสาเหตุทั้งเป็นได้แต่กำเนิด และเป็นตามมาจากสาเหตุต่าง ๆ เช่นอาหาร การอักเสบอื่น ๆ ของตา การติดเชื้อ ภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ หรือไม่ทราบสาเหตุ การรักษาในคนจะใช้การสลายต้อกระจก และสามารถใส่เลนส์แก้วตาเทียมได้ มีรายงานการผ่าตัดสลายต้อกระจกในเสือเช่นเดียวกับในคน แต่จะมีความลำบากในการให้ยาหลังผ่าตัด
ภาพที่ 4 ลักษณะของต้อกระจกในเสือโคร่งอายุ 7 ปี จะเห็นเลนส์ที่อยู่หลังรูม่านตาขุ่นขาว
ภาพที่ 5 ต้อกระจกลูกเสือโคร่งอายุ 2 เดือน
โรคตาแห้ง (dry eye/ keratoconjunctivitis sicca)
โรคตาแห้งในแมว มักเกิดจากหลายสาเหตุ โดยพบว่าการติดเชื้อ feline herpes virus-1 หรือเชื้อไวรัสในกลุ่มไข้หวัดแมว เป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหานี้ได้มาก นอกจากนี้ ความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาททำให้กระจกตารู้สึกลดลง การหลั่งน้ำตาลดลง ทำให้ตาแห้ง และเกิดความผิดปกติที่กระจกตาและเยื่อบุตา
ภาพที่ 6 และ 7 ลักษณะของตาเสือโคร่งที่มีปัญหาตาแห้งเรื้อรัง จะเห็นว่ามีขี้ตาข้นติดอยู่กระจกตาและเยื่อบุตา ตาแดง กระจกตาอักเสบ ขุ่น มีเส้นเลือดและเม็ดสีสะสมที่กระจกตา เนื้อเยื่อของเยื่อบุตาและกระจกตาอักเสบ เพิ่มจำนวนมากขึ้นจนเห็นเป็นก้อนแดง
จอประสาทตาเสื่อม หรือจอประสาทตาอักเสบ (retinopathy)
โรคของจอประสาทตา ทำให้สัตว์มองเห็นได้ลดลง หรือแม้กระทั่งตาบอดได้ สามารถเกิดได้ทั้งจากความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือเกิดตามมาจากการอักเสบเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ ทั้งการอักเสบที่ตา หรือความเจ็บป่วยอื่น ๆ ในร่างกาย การติดเชื้อ ได้รับสารพิษหรือยาบางอย่าง เกิดตามมาจากโรคอื่น เช่น ไตวาย โรคหัวใจ โรคของระบบเลือด โรคภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ อาการโดยทั่วไปคนเลี้ยงจะบอกว่าเสือมองเห็นได้ไม่ดี เดินชน ไม่กล้ากระโดด ตาวาว ม่านตาขยาย หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ ของร่างกาย ในกรณีที่ป่วยด้วยโรคอื่นร่วมด้วยเมื่อตรวจจะพบว่า ม่านตาขยาย มีแสงสะท้อนจากก้นตาสว่างมากกว่าปกติ อาจพบว่าจอประสาทตาเสื่อมลง โดยเห็นว่าเส้นเลือดที่จอประสาทตามีขนาดเล็กลง เส้นประสาทตาฝ่อลง สีเข้ม หรืออาจพบว่าปกติ ซึ่งถ้าพบว่าจอประสาทตาปกติแต่มองไม่เห็น จำเป็นต้องตรวจด้วยเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าของจอประสาทตา หรือต้องตรวจด้วย MRI ร่วมกับการตรวจร่างกาย ตรวจเลือดหรือตรวจโรคอื่นที่จำเป็น
ภาพที่ 8 และ 9 ลักษณะของจอประสาทตาเสือโคร่งที่มีรอยแผลเก่าที่หลงเหลือจากการอักเสบเป็นจุดกลมสีสว่างกว่าตำแหน่งอื่นของจอประสาทตา เสือโคร่งตัวนี้ตรวจพบว่าเคยติดเชื้อ Toxoplasma gondii หรือไข้ขี้แมวร่วมด้วย
ภาพที่ 10 จอประสาทตาเสื่อมในเสือโคร่ง อายุ 7 ปี จะเห็นว่าเส้นเลือดที่จอประสาทตามีขนาดฝ่อเล็กลง เส้นประสาทตาสีเข้ม จอประสาทตาโดยรวมบางลง เห็นบริเวณสะท้อนแสงเป็นบริเวณกว้าง
จะเห็นได้ว่าโรคที่ตาส่วนมาก จะมีผลกับการมองเห็น ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่เนื่องจากเสือและสัตว์ป่าถูกเลี้ยงในกรงเลี้ยง จึงลดปัญหาในการที่จะถูกล่า หรือหนีไม่ทัน และยังสามารถรักษาหรือ ศึกษากลไกหรือการดำเนินไปของโรคได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านของการป้องกันโรคในสัตว์ตัวอื่นหรือในอนาคต
เอกสารอ้างอิง
จิระ เมฆวิชัย. สัตว์ป่าในกรง คำตอบในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า. การสัมมนาเรื่องสัตว์ป่าเมืองไทย 2523;1(2):103-8.
Mitchell N. Feline ophthalmology part 1: examination of the eye. Irish vet J. 2006; 59(3): 164-8.
Sebbag L, Pesavent PA, Carrasco SE, Reilly CM, and Maggs DJ. Feline dry eye syndrome of presumed neurogenic origin: a case report.J. Feline Med. Surg 2017;4:1–7.
อ.ดร.สพ.ญ.รวงรัตน์ พุทธิรงควัตร
อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข
และศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่นและสัตว์อพยพ
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล