ห้องปฏิบัติการ
ของ
ศูนย์เฝ้าระวังฯ


ห้องปฏิบัติการของศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่นและสัตว์อพยพ ได้รับรางวัลห้องปฏิบัติการต้นแบบด้านความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี (ESPReL) ได้รับการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการปลอดภัยเพื่อการยอมรับร่วม peer evaluation มาตรฐาน มอก. 2677-2558 และมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ISO/IEC 17025:2017 ในด้านการวินิจฉัยโรคทางสัตวแพทย์ และเป็นศูนย์อ้างอิงโรคระหว่างสัตว์และคน และโรคในสัตว์ป่า ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ FAO Reference Centre for Zoonotic and Wildlife diseases ศูนย์เฝ้าระวังฯ มีความสามารถในการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อระหว่างสัตว์และคน และโรคในสัตว์ป่า ครอบคลุมการปฏิบัติงานในด้านต่าง ๆ ดังนี้

Biological safety level-3 (BSL-3) laboratory

ห้องปฏิบัติการที่มีความพร้อมในการรับมือกับเชื้อก่อโรครุนแรงระดับ 3 (Risk group 3) เช่น Rabies virus, M. tuberculosis, Avian influenza virus

Animal Biological safety level-3 (ABSL-3) laboratory

ห้องปฏิบัติการสัตว์ทดลองที่เหมาะสมกับเชื้อก่อโรคที่ติดต่อทางการหายใจ (aerosol transmission) และเชื้อก่อโรครุนแรงระดับ 3

Molecular biology laboratory

ตรวจเชื้อก่อโรคในสัตว์ (ไวรัส แบคทีเรีย ฟังไจ โปรโตซัว) ระบุชนิดสัตว์ด้วยวิธี PCR, DNA sequencing และระบุเพศในนก

Viral culture laboratory

งานเพาะเลี้ยงเซลล์ แยกเชื้อไวรัสจากการเพาะเลี้ยงในเซลล์และฉีดเข้าไข่ไก่ฟัก และการเตรียมเซลล์ไลน์ (cell line) สำหรับงานทางห้องปฏิบัติการ

Immuno-
histochemistry laboratory

ตรวจหาแอนติเจนของจุลินทรีย์ในเนื้อเยื่อสัตว์ด้วยการย้อมพิเศษทางอิมมูโนฮีสโตเคมี

Bacteria laboratory

ตรวจแยกเชื้อแบคทีเรียก่อโรค เช่น Leptospira spp. ,Chlamydia spp.

Serology laboratory

ตรวจหาแอนติเจนหรือแอนติบอดีในซีรัมของสัตว์ด้วยวิธี ELISA, Hemeagglutination inhibition และ Agar immunodiffusion assay

Vector-borne disease laboratory

เฝ้าระวังโรคติดต่อนำโดยแมลง และระบุชนิดของแมลง

Cryopreservation room

ห้องเก็บตัวอย่างและเซลล์ไลน์ในไนโตรเจนเหลวและตู้แช่อุณหภูมิ -80°C

Bacteria laboratory

ตรวจแยกเชื้อแบคทีเรียก่อโรค เช่น Leptospira spp. ,Chlamydia spp.


มาตรฐานทางห้องปฏิบัติการ

โครงการยกระดับความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี (Enhancement of Safety Practice of Research Laboratory; ESPReL)

มหาวิทยาลัยมหิดลมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2557 เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านความปลอดภัยของกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย ที่มีตั้งแต่การเรียนการสอน การวิจัยและการบริการวิชาการ

สำหรับการปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดทำ “โครงการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย” (Enhancement of Safety Practice of Research Laboratory in Thailand, ESPReL) โดยกำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยสำหรับห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้การดำเนินงานด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายด้านความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยมหิดลและสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่นและสัตว์อพยพ จึงได้จัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการวิจัยตามมาตรฐาน ESPReL เพื่อให้ห้องปฏิบัติการมีความปลอดภัยสำหรับการทำงานของนักวิจัยและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในองค์กร ศูนย์เฝ้าระวังฯ เข้าร่วมโครงการยกระดับความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีตามมาตรฐาน ESPReLกับศูนย์บริหารความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (Center for Occupation Safety, Health and Workplace Environment Management: COSHEM) และได้ดำเนินการยกระดับความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ESPReL ครบทั้ง 7 องค์ประกอบความปลอดภัย ได้แก่

องค์ประกอบที่ 1 การบริหารระบบจัดการความปลอดภัย
องค์ประกอบที่ 2 ระบบการจัดการสารเคมี
องค์ประกอบที่ 3 ระบบการจัดการของเสีย
องค์ประกอบที่ 4 ลักษณะทางกายภาพของห้องปฏิบัติการอุปกรณ์และเครื่องมือ
องค์ประกอบที่ 5 ระบบการป้องกันและแก้ไขภัยอันตราย
องค์ประกอบที่ 6 การให้ความรู้แก่บุคลากร
องค์ประกอบที่ 7 การจัดการข้อมูลเอกสาร

ห้องปฏิบัติการภายในศูนย์เฝ้าระวังฯ ได้รับรางวัลห้องปฏิบัติการต้นแบบด้านความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี (Enhancement of Safety Practice of Research Laboratory; ESPReL) จำนวน 6 ห้อง ได้แก่

ห้องปฏิบัติการอณูชีววิทยา
ห้องปฏิบัติการวิทยาภูมิคุ้มกัน
ห้องปฏิบัติการอิมมูโนฮีสโตเคมี
ห้องปฏิบัติการแบคทีเรีย
ห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาและการเพาะเลี้ยงเซลล์
ห้องปฏิบัติการโรคติดต่อนำโดยแมลง

มาตรฐานห้องปฏิบัติการปลอดภัยเพื่อการยอมรับร่วม peer evaluation

ตามที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล สร้างระบบการตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการปลอดภัยในรูปแบบ peer evaluation และเริ่มดำเนินโครงการ “ตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการในรูปแบบ peer evaluation: phase 1” เพื่อจัดทำกระบวนการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการเพื่อการยอมรับร่วมที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในระดับประเทศ มุ่งเน้นให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านความปลอดภัยกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการปลอดภัยอย่างเป็นรูปธรรม

มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดทำระบบตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการในรูปแบบการยอมรับร่วม peer evaluation โดยใช้ ESPReL Checklist เป็นเครื่องมือในการประเมินสภาพความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการร่วมกับการตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการโดยผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิด้านความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ เพื่อผลักดันให้เกิดกลไกการยกระดับความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการอย่างเป็นระบบ มุ่งเป้าสู่วัฒนธรรมความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการอย่างยั่งยืน และพัฒนาสู่มาตรฐานห้องปฏิบัติการวิจัยในระดับสากล

ห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาและการเพาะเลี้ยงเซลล์ ของศูนย์เฝ้าระวังฯ ได้รับเลือกจากมหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อเข้ารับการตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการในรูปแบบ peer evaluation: phase 1 หลังจากดำเนินการและปรับปรุงห้องปฏิบัติการโดยใช้ ESPReL Checklist แล้วเข้ารับการประเมิน ห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาและการเพาะเลี้ยงเซลล์ ผ่านมาตรฐานห้องปฏิบัติการปลอดภัยเพื่อการยอมรับร่วม peer evaluation ทั้ง 7 องค์ประกอบ และได้รับคะแนนเต็ม 100 คะแนนในทุกองค์ประกอบ

มาตรฐานห้องปฏิบัติการ ISO/IEC 17025:2017 ในด้านการวินิจฉัยโรคทางสัตวแพทย์

ห้องปฏิบัติการของศูนย์เฝ้าระวังฯ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองความสามารถตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2017 และข้อกำหนดและเงื่อนไขการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการการทดสอบด้านการแพทย์และสาธารณสุขของสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กระทรวงสาธารณสุข ในด้านการวินิจฉัยโรคทางสัตวแพทย์

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการวิจัยที่เกี่ยวกับสารเคมี (มอก. 2677-2558)

ตามที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการสนับสนุนและส่งเสริมให้ห้องปฏิบัติการภายในมหาวิทยาลัยฯ มีการยกระดับความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี โดยร่วมมือกับสำนักการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการจัดทำโครงการตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการวิจัยในรูปแบบ Certification ระยะที่ 2 ปี 2563 โดยตรวจประเมินห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี (มอก. 2677-2558) ซึ่งถือเป็นมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี และมอบหมายให้สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอเป็นผู้จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและเข้าตรวจประเมินห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน มอก. 2677-2558

ห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาและการเพาะเลี้ยงเซลล์ของศูนย์เฝ้าระวังฯ ได้สมัครเข้าร่วมโครงการและดำเนินการเข้ารับการรับรองระบบมาตรฐานดังกล่าว โดยเริ่มตั้งแต่การส่งบุคลากรเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการในวันที่ 9 – 11 กุมภาพันธ์ 2564 ต่อมาได้ดำเนินการจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้ารับการตรวจประเมินในขั้นตอนที่ 1 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 จากนั้นได้ดำเนินการแก้ไขความไม่สอดคล้องกับมาตรฐาน จัดเตรียมเอกสารเพิ่มเติมและเข้ารับการตรวจประเมินในขั้นตอนที่ 2 เมื่อวันที่ 22 – 23 กันยายน 2564

ผลการตรวจประเมินห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาและการเพาะเลี้ยงเซลล์ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี พบว่าการดำเนินงานของห้องปฏิบัติการมีความสอดคล้องในทุกข้อกำหนดและไม่พบข้อบกพร่อง