นกนางนวลที่สามารถพบได้ในประเทศไทย


นกนางนวลจัดอยู่ในอันดับ Charadriiformes วงศ์นกนางนวล (Family Laridae) นกนางนวลที่พบในประเทศไทย มีทั้งที่เป็นนกอพยพ (Winter visitor) ซึ่งจะอพยพเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เดือนตุลาคม-เดือนมีนาคม และเป็นนกพลัดหลงหรือนกที่พบน้อยกว่า 5 ครั้งในพื้นที่นั้น (Winter visitor or less than 5 records) ชนิดของนกนางนวลที่พบได้ในประเทศไทยมีดังนี้


นกนางนวลหางดำ

นกนางนวลหางดำ Black-tailed gull (ชื่อวิทยาศาสตร์ Larus crassirostris) เป็นนกอพยพที่พบได้ยากในไทย โดยอพยพมาจากคาบสมุทรภูมิภาคเอเชียกลาง เช่น รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และจีน อพยพลงมาทางจีนตอนใต้ เวียดนาม และอาจมีโอกาสลงมาถึงไทยในบางครั้ง ถิ่นอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล 

ลักษณะขนชุดผสมพันธุ์ : หัวขาวไม่มีลาย ปากและขาสีสดมากขึ้น นกวัยอ่อนปีแรก : ปากสีชมพูปลายดำ หน้าผาก คอ และกลางลำตัวด้านล่างค่อนข้างขาว ท้ายทอยและลำตัวด้านบนสีน้ำตาลเข้ม หางดำ ตะโพกขาวมีลายจุดสีคล้ำ นกไม่เต็มวัย : คล้ายนกเต็มวัย ลำตัวด้านบนแกมสีน้ำตาล ปากเขียวแกมเหลืองปลายดำ

ภาพที่ 1-3 นกนางนวลหางดำ
ภาพที่ 1 โดย ยุทธพงษ์ รัศมี, ภาพที่ 2 โดย วรพจน์ บุญความดี, ภาพที่ 3 โดย กฤต อดิเรก


นกนางนวลปากเหลือง

นกนางนวลปากเหลือง Mew gull (ฺBCST Thai Bird Checklist v.2022), Common gull (Clements Checklist v.2022) (ชื่อวิทยาศาสตร์ Larus canus) เป็นนกที่พบได้มากในตอนเหนือของเขตชีวภาพ Palaearctic ecozone มีการอพยพไปทั่วยูเรเชียและมีโอกาสพบที่ไทยได้น้อย

ลักษณะขนชุดผสมพันธุ์ : ปากเหลืองทั้งหมด หัว ท้ายทอยและข้างคอขาวไม่มีลาย นกวัยอ่อนปีแรก : ปากสีชมพูปลายดำ หัว คอ และอกมีลายสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวด้านบนเทาแกมน้ำตาล ขณะบินเห็นลายสีเข้มจากขนคลุมไหล่ ตะโพกมีจุดสีเข้ม ปลายหางดำ แข้งและตีนชมพู สีลำตัวคล้ายนกวัยอ่อนของกลุ่มนกนางนวลหลังดำพันธุ์รัสเซียแต่ขนาดเล็กกว่ามาก นกไม่เต็มวัย : คล้ายนกเต็มวัยนอกฤดูผสมพันธุ์แต่จุดขาวที่ปลายปีกเล็กกว่า

ภาพที่ 4-5 นกนางนวลปากเหลือง (นกไม่เต็มวัย) โดย ยุทธพงษ์ รัศมี


นกนางนวลหลังดำเล็ก

นกนางนวลหลังดำเล็ก Lesser black-backed gull (ชื่อวิทยาศาสตร์ Larus fuscus) เป็นนกที่พบได้ทั่วในยูเรเซีย มีการอพยพหนีหนาวไปยังแอฟริกาใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นนกพลัดหลงที่พบในประเทศไทยได้ยาก

ลักษณะขนชุดผสมพันธุ์ : หัวขาวไม่มีลาย ปากและขาสีสดมากขึ้น นกวัยอ่อนปีแรก : ปากดำ ขนลำตัวเทาเข้มมีลายดำหนาแน่น ปลายหางดำ แข้งและตีนชมพู นกวัยอ่อนปีที่สอง : หลังแกมเทา ปลายหางดำ ถิ่นอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล


นกนางนวลหลังดำพันธุ์รัสเซีย

นกนางนวลหลังดำพันธุ์รัสเซีย Heuglin’s gull (ชื่อวิทยาศาสตร์ Larus heuglini (ฺBCST Thai Bird Checklist v.2022), L. fuscus heuglini หลายที่ระบุว่าเป็นชนิดย่อยนกนางนวลหลังดำเล็ก (Clements Checklist v.2022) ) เป็นนกอพยพที่พบได้ในแถบทุ่งทุนดราทางตอนเหนือของรัสเซีย มีการอพยพมายังเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ อนุทวีปอินเดีย เอเชียตะวันออกและแอฟริกาตะวันออก มีการปรากฏบ้างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ลักษณะขนชุดผสมพันธุ์ : หัวและคอขาวไม่มีลาย ปากและขาเหลืองสดขึ้น นกวัยอ่อนปีแรก : ปากดำหรือโคนปากชมพูปลายดำ โดยรวมขนสีเข้มกว่าชนิดอื่น ๆ หัวและลำตัวมีลายสีเข้ม ขอบขนสีขาว แข้งและตีนสีชมพู นกวัยอ่อนปีที่สอง : หลังมีขนสีเทา หางขาวปลายดำ ถิ่นอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล บางครั้งพบตามแม่น้ำ ทะเลสาบ และบึงขนาดใหญ่

ภาพที่ 6-8 นกนางนวลหลังดำพันธุ์รัสเซีย
ภาพที่ 6 นกปีแรก โดย ยุทธพงษ์ รัศมี,
ภาพที่ 7 นกปีแรก โดย วัชระ สงวนสมบัติ,
ภาพที่ 8 ขนชุดผสมพันธุ์ โดย วัชระ สงวนสมบัติ


นกนางนวลพันธุ์มองโกเลีย

นกนางนวลพันธุ์มองโกเลีย Mongolian gull (ชื่อวิทยาศาสตร์ Larus mongolicus (ฺBCST Thai Bird Checklist v.2022) Vega Gull L. vegae mongolicus (IOC v13.2) Herring gull Larus argentatus mongolicus (Clements Checklist v.2022)) เป็นนกพลัดหลงที่พบได้ในมองโกเลีย บางพื้นที่ในรัสเซีย ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และเกาหลีใต้

ลักษณะขนชุดผสมพันธุ์ : หัวและคอขาวไม่มีลาย ปากและขาเหลืองสดขึ้น นกวัยอ่อนปีแรก : ปากดำหรือโคนปากชมพูปลายดำ สีดำจากกลางขนแคบกว่า โดยรวมขนสีขาวกว่านกนางนวลหลังดำพันธุ์รัสเซีย นกวัยอ่อนปีที่สอง : คล้ายนกนางนวลหลังดำพันธุ์รัสเซีย แต่สีเทาอ่อนกว่า ถิ่นอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล


นกนางนวลหัวดำใหญ่

นกนางนวลหัวดำใหญ่ Pallas’s gull (Ichthyaetus ichthyaetus) เป็นนกอพยพที่พบได้ยาก โดยอพยพมาจากทะเลสาบแคสเปียนที่ติดพรมแดนของรัสเซีย อาเซอร์ไบจาน อิหร่าน เติร์กเมนิสถานและคาซัคสถาน ถิ่นอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลหรือในนาเกลือ มีการพบเจอบ้างในประเทศไทย

ลักษณะขนชุดผสมพันธุ์ : หัวดำ ปลายปากแดงเข้ม นกวัยอ่อนปีแรก : คล้ายนกเต็มวัยแต่ปากสีซีด ขนลำตัวด้านบนเทาและน้ำตาลคล้ำ หางขาวตัดกับปลายดำชัดเจน ขณะบินขนปลายปีกดำ กลางปีกเทา

ภาพที่ 9-12 นกนางนวลหัวดำใหญ่ ภาพโดย ชาติพัฒน์ ผลภาค


นกนางนวลธรรมดา

นกนางนวลธรรมดา Brown-headed gull (Chroicocephalus brunnicephalus, ชื่อเดิม Larus brunnicephalus) เป็นนกอพยพที่พบได้บ่อยมากประเทศไทย โดยอพยพมาจากแถบเอเชียกลางและประเทศจีน ศูนย์เฝ้าระวังฯ เคยมีการศึกษาเส้นทางการบินอพยพของนกนางนวลธรรมดา ในช่วงปี พ.ศ. 2551-2554 พบว่านกนางนวลธรรมดาบินจากทิเบตมาพม่าและไทย หรือจากชิงไห่มาบังกลาเทศ พม่า ไทยและกัมพูชา หรือจากซินเจียงมาพม่า ไทย กัมพูชาและเวียดนาม เป็นต้น เราสามารถพบนกนางนวลธรรมดาได้มาก ตั้งแต่เดือนตุลาคม-เดือนมีนาคม ที่สถานตากอากาศบางปู จังหวัดสมุทรปราการ

ลักษณะขนชุดผสมพันธุ์ : หัวน้ำตาลเข้ม รอบตาขาวไม่ต่อเนื่อง นกวัยอ่อน : ตาน้ำตาลเข้ม ไม่มีจุดขาวที่ปลายปีก ขณะบินขอบปีกและปลายหางดำ บนปีกมีแถบสีน้ำตาล ปากและขาสีซีด ถิ่นอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล แม่น้ำ หนองบึงและแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่

ภาพที่ 12 นกนางนวลธรรมดา ภาพโดย ยุทธพงษ์ รัศมี
ภาพที่ 13 นกนางนวลธรรมดา (ขนชุดผสมพันธุ์) ภาพโดย วัชระ สงวนสมบัติ


นกนางนวลขอบปีกขาว

นกนางนวลขอบปีกขาว Black-headed gull (ชื่อวิทยาศาสตร์ Chroicocephalus ridibundus, ชื่อเดิม Larus ridibundus) เป็นนกที่พบได้ทั่วไปในเอเชียและยุโรป ช่วงฤดูผสมพันธุ์จะมีหัวสีดำเข้ม ส่วนช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์จะมีหัวสีขาว ถิ่นอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล แม่น้ำ หนองบึงและแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่

ลักษณะขนชุดผสมพันธุ์ : หัวดำแกมน้ำตาลเข้ม ขาแดงเข้ม นกวัยอ่อน : ขอบขนปีกบินและปลายหางดำ บนปีกมีแถบสีน้ำตาลเข้มแกมดำ ปากส้มปลายดำ แข้งและตีนส้ม

ภาพที่ 15-16 นกนางนวลขอบปีกขาว ภาพโดย ยุทธพงษ์ รัศมี


นกนางนวลปากเรียว

นกนางนวลปากเรียว Slender-billed gull (ชื่อวิทยาศาสตร์ Chroicocephalus genei, ชื่อเดิม Larus genei) เป็นนกอพยพหรือพลัดหลงที่พบได้ยากในไทย ถิ่นอาศัยอยู่ตามทะเลและทะเลสาบในแถบเมดิเตอร์เรเนียนและทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรอินเดีย

ลักษณะขนชุดผสมพันธุ์ : ปากแดงเข้มหรืออาจมองเห็นเป็นสีดำ หัวขาวมากขึ้น ลำตัวด้านล่างเจือสีชมพูอ่อน แข้งและตีนแดง นกวัยอ่อน : คล้ายนกนางนวลขอบปีกขาว แตกต่างที่รูปร่างและสีตา ถิ่นอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล

ภาพที่ 17 นกนางนวลปากเรียว ภาพโดย ยุทธพงษ์ รัศมี
ภาพที่ 18 นกนางนวลปากเรียว (เต็มวัย) ภาพโดย วัชระ สงวนสมบัติ


นกนางนวลเล็ก

นกนางนวลเล็ก Little gull (ชื่อวิทยาศาสตร์ Hydrocoloeus minutus, ชื่อเดิม Larus minutus) เป็นนกพลัดหลงที่พบได้ยากมากในไทย โดยฟโุผสมพันธุ์จะอยู่ในภูมิภาคไซบีเรีย อพยพไปยังพื้นที่อื่น และมีการปรากฏในอเมริกาเหนือด้วย

ลักษณะขนชุดผสมพันธุ์ : หัวดำ ปากแดงเข้มแกมน้ำตาล ลำตัวด้านล่างอาจแกมสีชมพูจาง ๆ แข้งและตีนแดงเข้ม นกวัยอ่อนปีแรก : ปากดำ กระหม่อม ท้ายท้อย ขนคลุมหูและลำตัวด้านบนน้ำตาลแกมดำ ขณะบินเห็นแถบดำใหญ่จากไหล่ถึงโคนปีกด้านหลัง หางดำโคนหางขาว ปลายเว้าเล็กน้อย ถิ่นอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล


นกคิตติเวคขาดำ

นกคิตติเวคขาดำ Black-legged kittiwake (ชื่อวิทยาศาสตร์ Rissa tridactyla) เป็นนกที่หากินกลางทะเล อาศัยในชายฝั่งและพื้นที่ตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก อาร์กติกและแปซิฟิก

ลักษณะขนชุดผสมพันธุ์ : หัวขาว ปากเหลืองสด นกวัยอ่อน : ปากดำ แถบหลังตา ท้ายทอย แถบปีกและปลายหางดำ ขณะบินเห็นแถบดำใหญ่จากปลายปีกถึงโคนปีกชัดเจน

ภาพที่ 19 นกคิตติเวคขาดำ ภาพโดย วัชระ สงวนสมบัติ


สถานตากอากาศบางปู แหล่งดูนกนางนวลที่สำคัญของไทย

สถานตากอากาศบางปู จังหวัดสมุทรปราการ นับว่าเป็นแหล่งรวมกลุ่มแหล่งหนึ่งของนกนางนวลจำนวนมากและหลากหลายชนิดที่อพยพหนีหนาวเข้ามาพักในประเทศไทย ซึ่งส่งเสริมให้สถานตากอากาศบางปูกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งศึกษาธรรมชาติยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา ที่อยากสัมผัสประสบการณ์การดูนกนางนวลและทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลนอย่างใกล้ชิด


เอกสารอ้างอิง

จารุจินต์ นภีตะภัฎ, กานต์ เลขะกุล, วัชระ สงวนสมบัติ. คู่มือดูนก หมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย. กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์จำกัด; 2561.

สมิทธิ์ สุติบุตร์. 2552. คู่มือจำแนกชนิดนกชายเลนและนกทะเล. Wetlands International – Thailand Office และสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ

BCST. BCST Bird Data & Reports [Internet]. 2022 [cited 2023 Oct 13]. Available from: https://www.bcst.or.th/report-archives/

Clements, J. F., T. S. Schulenberg, M. J. Iliff, T. A. Fredericks, J. A. Gerbracht, D. Lepage, S. M. Billerman, B. L. Sullivan, and C. L. Wood. 2022. The eBird/Clements checklist of Birds of the World: v2022. Downloaded from https://www.birds.cornell.edu/clementschecklist/download/

IOC World Bird List. Noddies, skimmers, gulls, terns, skuas, auks [Internet]. [cited 2023 Oct 17]. Available from: https://www.worldbirdnames.org/bow/gulls/

Ratanakorn P, Wiratsudakul A, Wiriyarat W, Eiamampai K, et al. Satellite Tracking on the Flyways of Brown-Headed Gulls and Their Potential Role in the Spread of Highly Pathogenic Avian Influenza H5N1 Virus. PLOS ONE. 2012;7:e49939.

ชื่อวิทยาศาสตร์ อ้างอิงจาก
– สมาคมอนุรักษ์นกธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) https://www.bcst.or.th/report-archives/
– The International Ornithological Committee (IOC) https://www.worldbirdnames.org/bow/gulls/
– eBird https://ebird.org/
– Clements Checklist https://www.birds.cornell.edu/clementschecklist/download/

ปุญญพัตน์ เศษวิสัย

ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่นและสัตว์อพยพ
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล