การสำรวจค้างคาวด้วยกับดักแบบสลิงขึงแนวตั้ง (harp trap)


ค้างคาว เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สามารถบินได้ จัดอยู่ในไฟลัม Chordata อันดับ Chiroptera ปัจจุบันมีรายงานการพบค้างคาวทั่วโลกมากกว่า 1,400 ชนิด ซึ่งประเทศไทยพบค้างคาวอย่างน้อย 138 ชนิด จาก 11 วงค์ 45 สกุล สามารถพบค้างคาวได้ทุกภูมิภาคของประเทศไทย ค้างคาวที่พบในประเทศไทยมีความหลากหลายมาก โดยพบตั้งแต่ค้างคาวที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก คือ ค้างคาวคุณกิตติ (Craseonycteris thonglongyai) ไปจนถึงค้างคาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือ ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน (Pteropus vampyrus) ค้างคาวในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 อันดับย่อย คือ อันดับย่อยค้างคาวกินผลไม้ (Suborder Megachiroptera) และอันดับย่อยค้างคาวกินแมลง (Suborder Microchiroptera) 

ค้างคาว มีแหล่งอาศัยที่หลากหลาย เช่น ถ้ำ โพรงดิน โพรงไม้ กิ่งไม้ อาคารบ้านเรือน วิวัฒนาการของการใช้คลื่นเสียงในการหาทิศทางและหาอาหารมีผลต่อการเลือกที่อยู่อาศัยของค้างคาว โดยในค้างคาวกินแมลง ลักษณะของอาหารและการหาอาหารมีผลต่ออัตราการเผาผลาญซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย อัตราการเผาผลาญพลังงานขณะพักของค้างคาวกินแมลงหรือค้างคาวขนาดเล็ก (basal metabolic rate) ต่ำกว่าและควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้ไม่ดีเท่าค้างคาวกินผลไม้หรือค้างคาวที่มีขนาดใหญ่ จึงต้องการพื้นที่อาศัยที่จะสูญเสียพลังงานน้อยที่สุดเพื่อควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย พื้นที่ที่เหมาะสมจึงได้แก่ ถ้ำหรือโพรงต่าง ๆ  ขณะที่ค้างคาวกินผลไม้ใช้ดวงตาและจมูกในการหาทิศทางและหาอาหารจึงมีการปรับตัวในการเลือกพื้นที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่อาศัยภายนอก เช่น ต้นไม้ กิ่งไม้


Harp trap คืออะไร

การดักจับค้างคาวต้องเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มโอกาสในการจับค้างคาวให้ได้ตามจำนวนที่ต้องการและเพื่อความปลอดภัยของค้างคาวด้วย ซึ่งอุปกรณ์สำหรับดักจับค้างคาวที่นิยมใช้ คือ กับดักแบบสลิงขึงแนวตั้ง (harp trap) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับจับค้างคาวโดยเฉพาะ มีการออกแบบและนำมาใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1958 มีการปรับปรุงและแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน ในปี ค.ศ. 1974 กับดักแบบสลิงขึงแนวตั้ง เป็นอุปกรณ์ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายและเป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง โดยสามารถจับค้างคาวได้จำนวนมากในช่วงเวลาอันสั้นและลดการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นกับค้างคาว กับดักแบบสลิงขึงแนวตั้ง มีลักษณะคล้ายกับเครื่องดนตรีที่เรียกว่า พิณฝรั่ง (harp) เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่มีเส้นเอ็นขึงตึงเรียงกันเป็นแถว ตั้งแต่ 2 ถึง 4 แถว เรียงซ้อนกัน และด้านล่างมีถุงสำหรับรองรับค้างคาวที่บินมาชนเส้นเอ็นแล้วตกลงมาด้านล่าง ซึ่งถุงดังกล่าวช่วยป้องกันไม่ให้ค้างคาวได้รับบาดเจ็บ ดังภาพที่ 1

ภาพที่ 1 แสดงลักษณะของถุงรองรับค้างคาวของกับดักแบบสลิงขึงแนวตั้ง

พื้นที่ในการติดตั้งกับดักแบบสลิงขึงแนวตั้งต้องเป็นพื้นที่อาศัยหรือเป็นแหล่งเกาะนอนของค้างคาว เช่น ถ้ำ (ภาพที่ 2) ซอกหิน เป็นต้น และเป็นพื้นที่ที่ค้างคาวใช้เป็นประจำหรือพื้นที่หาอาหารของค้างคาว (รูปที่ 3) เช่น ทางด่านสัตว์ ลำธาร แม่น้ำ เป็นต้น ซึ่งกับดักแบบสลิงขึงแนวตั้งเหมาะสำหรับจับค้างคาวกินแมลง เนื่องจากค้างคาวกินแมลงใช้การรับส่งคลื่นเสียง (Echolocation) ในการหาอาหาร จึงสามารถตรวจจับความเคลื่อนไหวหรือสิ่งกีดขวางในแนวนอนได้ดีกว่าสิ่งกีดขวางในแนวตั้ง ค้างคาวกินแมลงจึงบินหลบกับดักแบบสลิงขึงแนวตั้งได้ยาก ในทางตรงกันข้ามการดักจับค้างคาวด้วยตาข่าย (mist net) จึงไม่นิยมนำมาใช้ในการดักจับค้างคาวกินแมลงมากนักเนื่องจากค้างคาวกินแมลงสามารถบินหลบหลีกตาข่ายได้และอาจสร้างความบาดเจ็บรวมถึงก่อให้เกิดความเครียดต่อค้างคาวได้

ภาพที่ 2 แสดงการติดตั้งกับดักแบบสลิงขึงแนวตั้งบริเวณปากถ้ำ

ภาพที่ 3 แสดงการติดตั้งกับดักแบบสลิงขึงแนวตั้งบริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาติ


ตัวอย่างการสำรวจค้างคาวด้วยกับดักแบบสลิงขึงแนวตั้งในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี

จากการสำรวจค้างคาวที่อาศัยในถ้ำช่วงปี พ.ศ.2553-2560 พบค้างคาว 7 วงศ์ 9 สกุล 14 ชนิด ดังนี้ ค้างคาวกิตติ (Craseonycteris thonglongyai) ค้างคาวปีกถุงเคราดำ (Taphozous melanopogon) ค้างคาวปีกพับดำใหญ่ (Miniopterus megnater) ค้างคาวหน้ายักษ์สามหลืบ (Hipposideros larvatus) ค้างคาวหน้ายักษ์เล็ก (Hipposideros pomona) ค้างคาวหน้ายักษ์ทศกรรณ (Hipposideros armiger) ค้างคาวมงกุฎปลอมเล็ก (Rhinolophus coelophyllus) ค้างคาวมงกุฎมลายู (Rhinolophus malayanus) ค้างคาวมงกุฎยอดสั้นเล็ก (Rhinolophus thomasi) ค้างคาวมงกุฎเทาแดง (Rhinolophus affinis) ค้างคาวแวมไพร์แปลงเล็ก (Megaderma spasma) ค้างคาวหูหนูตีนเล็กเขี้ยวสั้น (Myotis siligorensis) ค้างคาวไผ่หัวแบนเล็ก (Tylonycteris pachypus) และค้างคาวหน้าร่อง (Nycteris tragata) ซึ่งค้างคาวหน้าร่องเคยมีรายงานการกระจายตัวเฉพาะภาคใต้ของประเทศไทย แต่จากการสำรวจครั้งนี้พบค้างคาวหน้าร่องเป็นครั้งแรกในภาคตะวันตกของประเทศไทยด้วย

จากการสำรวจค้างคาวตามทางด่านสัตว์และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ปี พ.ศ.2562 พบค้างคาว 4 วงศ์ 9 สกุล 8 ชนิด ดังนี้ ค้างคาวแวมไพร์แปลงเล็ก ค้างคาวหน้ายักษ์เล็ก ค้างคาวหน้ายักษ์จมูกปุ่ม (Hipposideros halophyllus) ค้างคาวไผ่หัวแบนเล็ก ค้างคาวหูหนูตีนเล็กเขี้ยวยาว (Myotis muricola) ค้างคาวมงกุฎปลอมเล็ก ค้างคาวมงกุฎมลายู และค้างคาวมงกุฎหูโตสยาม (Rhinolophus siamensis) ซึ่งค้างคาวมงกุฎหูโตสยามเคยมีรายงานการกระจายตัวทางตอนล่างของจีน ลาว เวียดนาม และภาคเหนือของไทย แต่จากการสำรวจครั้งนี้พบค้างคาวมงกุฎหูโตสยามเป็นครั้งแรกในภาคตะวันตกของประเทศไทยด้วย


การศึกษาวิจัยในค้างคาวสำคัญอย่างไร

ค้างคาวเป็นแหล่งรวมของเชื้อไวรัสก่อโรคในคนที่สำคัญมากมาย เช่น ไวรัสอีโบล่า ไวรัสโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (โรคซาร์ส) ไวรัสโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (โรคเมอร์ส) จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีรายงานการแยกเชื้อไวรัสดังกล่าวนี้ในค้างคาวที่มีมากกว่า 1400 ชนิดทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนักวิจัยได้ทำการเปรียบเทียบจีโนมของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พบว่า มีความเหมือนประมาณ 96 เปอร์เซ็นต์ กับเชื้อไวรัสโคโรนาที่เคยพบในค้างคาวมงกุฎเทาแดง (Rhinolophus affinis) ในประเทศจีน ค้างคาวจึงเป็นสัตว์ต้องสงสัยว่าเป็นแหล่งกักเก็บเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีการสันนิษฐานว่าเชื้อดังกล่าวติดต่อมาสู่คนผ่านสัตว์ที่เป็นพาหะตัวกลางอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งล่าสุดมีความเป็นไปได้ว่า ตัวนิ่มที่ใช้ลิ้นกวาดกินแมลงตามพื้นดินอาจติดเชื้อโคโรนา 2019 จากมูลค้างคาวได้ นอกจากนี้หลายการศึกษาแสดงให้เห็นการตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา (bat coronavirus) ในค้างคาวหลายชนิด เช่น ค้างคาวเกือกม้าจีน (Rhinolophus sinicus) ค้างคาวปากย่น (Chaerephon plicata) ค้างคาวเพดานใหญ่ (Scotophilus heathii) ค้างคาวหน้ายักษ์สามหลืบ (Hipposideros larvatus) เป็นต้น ดังนั้นการศึกษาวิจัยในค้างคาว จำเป็นต้องรู้จักเทคนิคหรือวิธีการดักจับค้างคาวให้ได้ก่อน จึงจะสามารถเก็บตัวอย่างจากค้างคาวเพื่อนำไปตรวจหาเชื้อก่อโรคต่าง ๆ ต่อไปได้ ซึ่งการใช้กับดักแบบสลิงขึงแนวตั้งเป็นหนึ่งวิธีที่นำมาใช้ในการดักจับกลุ่มค้างคาวกินแมลงได้เป็นอย่างดี


เอกสารอ้างอิง

ประทีป ด้วงแค. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเมืองไทยสำหรับการจำแนกชนิดภาคสนาม. กรุงเทพฯ: คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์; 2551.

พิพัฒน์ สร้อยสุข. บัญชีรายชื่อค้างคาวในประเทศไทย. วารสารสัตว์ป่าเมืองไทย. 2554;18:121-51. 

วัชรี ลีลาไพบูลย์, สาระ บำรุงศรี, อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ และเดชา วิวัฒน์วิทยา. อาหารและปัจจัยที่มีผลต่อการกินอาหารของค้างคาวปากย่น ที่เขาช่องพราน จังหวัดราชบุรี. วารสารสัตว์ป่าเมืองไทย 2546;11:108-18.

สาระ บำรุงศรี, วัชรี ลีลาไพบูลย์, วีรยุทธ์ เลาหะจินดา และจารุจินต์ นภีตะภัฏ. การเลือกที่อยู่อาศัยของค้างคาวที่อาศัยอยู่ในถ้ำในจังหวัดสงขลาและสตูล. วารสารสัตว์ป่าเมืองไทย 2539;5:101-15.

Andersen KG, Rambaut A, Lipkin WI, Holmes EC, Garry RF. The proximal origin of SARS-CoV-2. Nat Med 2020;26:450-52.

Barlow Kate. Expedition Field Techniques. BATS. London: The Royal Geographical Society: 1999.

Charles MF. A field guide to the Mammals of Thailand and South-East Asia.

Bangkok: Asia books; 2008

Constantine DG. An automatic bat-collecting device. J Wildl Manage 1958;22:17-22.

Dai F, Tadashi I, Naoki A, Toshiki A. Efficiency of Harp Trap for Capturing Bats in Boreal Broad-Leaved Forest in Japan. Hokkaido University Forests, Eurasian J. For. Res 2001;3:23-6.

Lekagul B, Mcneely JA. Mammals of Thailand. Bangkok: Saha Karn Bhaet; 1977.

Maarten V. Handbook of Inventory Methods and Standard Protocols for Surveying Bat in Alberta. Edmonton: Sustainable Resource Development; 2010

Ministry of Environment, Lands and Parks Resources Inventory Branch for the Terrestrial Ecosystems Task Force Resources Inventory. Inventory Methods for Bats. British Columbia: Resources Inventory Committee; 1998.

Morrison K. Harp trapping; guidance notes for bat workers. [Internet]  Falkirk: BaTML Publications; 2005 [cited 19 February 2021]. Available from https://batability.co.uk/wp-content/uploads/2018/11/BaTML_Factsheet_Harp_Trapping-1.pdf

Newman SH, Field H, Epstein J, Jong C. Investigating the role of bats in emerging zoonoses. Balancing ecology, conservation and public health interests. Roam: FAO Animal Production and Health Manual; 2011. 

Surlykke A, Miller LA, Mohl B, Andersen BB, Christensen-Dalsgaard, Jorgensen MB. Echolocation in two very small bats from Thailand: Craseonycteris thonglongyai and Myotis siligorensis. Behav Ecol Sociobiol 1993;33:1-12.

Tuttle MD. An improved trap for bat. J. Mammal 1974;55:475-77.

ปุญญพัตน์ เศษวิสัย

ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่นและสัตว์อพยพ
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล