“จก…ควิก…ไกว๊…เลี่ยว จก…ควิก…ไกว๊…เลี่ยว” เป็นบทเพลงของเสียงร้องอันไพเราะพร้อมด้วยท่วงทำนองอันเป็นเอกลักษณ์ที่สามารถสะกดผู้ฟังให้ตราตรึงได้ และนี่คือเสียงร้องของปักษาเสียงทองตัวน้อยหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “นกกรงหัวจุก” หรือ “นกปรอดหัวโขน” หรือ “นกปรอดหัวโขนเคราแดง”
ภาพที่ 1 นกกรงหัวจุก (Red-whiskered bulbul)
(CC BY-SA 4.0)
นกตัวน้อย รูปร่างปราดเปรียว ที่มาพร้อมจุกบนหัวและแก้มแดงอันน่ารัก แต่เมื่อต้องต่อสู้แข่งขันประชันเสียงร้องกับนกกรงหัวจุกตัวอื่น ๆ บนสังเวียนราวเหล็กก็ยังเป็นสุดยอดนักสู้อีกด้วย จนหลายคนตั้งฉายาว่า “นักสู้ราวเหล็ก” โดยค่าตัวของนักสู้ผู้คว้าชัยชนะอาจสูงถึงหลักแสนหรือหลักล้าน ซึ่งปัจจุบันการแข่งขันประชันเสียงร้องของนกกรงหัวจุกได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และทำให้การเลี้ยงนกตัวน้อยชนิดนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน
นอกจากจะมีการเลี้ยงเพื่อการประชันเสียงร้องแล้ว เหล่าผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกยังพัฒนาสายพันธุ์ให้เกิดการแต่งแต้มสีสันใหม่ ๆ เช่น สีเผือก สีโอวัลติน สีเทา สีด่าง เกิดเป็น “นกกรงหัวจุกแฟนซี” (ภาพที่ 2) แม้ว่ากลุ่มผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกแฟนซีเหล่านี้มีความนิยมเลี้ยงไม่แพร่หลายเท่ากับการเลี้ยงเพื่อประชันเสียงร้อง แต่ราคาต่อตัวของนกแฟนซีอาจสูงถึงเรือนหมื่นเรือนแสนได้เลยทีเดียว เพราะกว่าจะผสมพันธุ์เพื่อให้ได้สีสันแปลก ๆ นั้นใช้เวลาปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ค่อนข้างนาน
สำหรับผู้สนใจการเลี้ยงนกกรงหัวจุกเพื่อการเพาะขยายพันธุ์ การอนุรักษ์และการประกวด ต้องเลี้ยงนกกรงหัวจุกที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์จากฟาร์มหรือผู้เพาะเลี้ยงที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมาย ไม่ได้จับมาจากธรรมชาติ รวมถึงต้องจดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากกรมป่าไม้เพื่อการครอบครอง เพาะพันธุ์และการค้า เนื่องจากนกกรงหัวจุกเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
ข่าวการเลี้ยงนกกรงหัวจุกแฟนซี (ไทยรัฐ 21 พฤศจิกายน 2561)
การระบุเพศนกกรงหัวจุก
การเพาะผสมพันธุ์นกเพื่อให้ได้นกเสียงทองชั้นเลิศหรือสีสันแปลกสะดุดตาซักหนึ่งตัวนั้น ประกอบด้วยหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของการเพาะขยายพันธุ์คือ การระบุเพศนกที่มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง แม่นยำและรวดเร็ว เพื่อให้สามารถจับคู่นกเพศผู้และเพศเมียได้อย่างถูกต้อง โดยทั่วไปการระบุเพศนกกรงหัวจุกจะสังเกตความแตกต่างจากลักษณะทางเพศภายนอกและการส่งเสียงร้อง แต่วิธีนี้ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะตัว และไม่สามารถใช้วิธีนี้ในการระบุเพศของลูกนกได้
อีกวิธีหนึ่ง การระบุเพศนกยังสามารถใช้วิธีการส่องกล้องผ่านช่องท้อง (Laparoscopy) เป็นวิธีเปิดผ่าช่องท้องแล้วสอดกล้องขนาดเล็กเข้าไปเพื่อดูอวัยวะสืบพันธุ์ของนกซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่แม่นยำที่สุด แต่อาจเป็นอันตรายต่อนกค่อนข้างสูงถึงขั้นนกอาจเสียชีวิตได้
ทางเลือกหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาหนักอกเหล่านี้ของการระบุเพศนกคือ วิธีการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมแบบลูกโซ่ในหลอดทดลอง (Polymerase chain reaction: PCR) ที่อาศัยการเพิ่มปริมาณลำดับสารพันธุกรรมโดยใช้ไพรเมอร์จำเพาะ (Specific primers) ที่จำเพาะต่อยีนหรือลำดับสารพันธุกรรมบนโครโมโซมเพศ โดยนกเพศผู้มีโครโมโซมเพศเป็น ZZ และนกเพศเมียมีโครโมโซมเพศเป็น ZW ยีนที่นิยมคือยีน Chromodomain helicase DNA binding 1 (CHD1) ซึ่งขนาดและจำนวนลำดับสารพันธุกรรมของยีน CHD1 ระหว่างโครโมโซม Z และ W แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมี 0.6 kb EcoRI fragment (EE0.6) ที่จำเพาะต่อลำดับสารพันธุกรรมของโครโมโซม W ที่นิยมนำมาใช้ตรวจเช่นกัน
การตรวจระบุเพศนกด้วยวิธี PCR ก็เหมือนการทำอาหารที่ต้องมีวัตถุดิบหลักและมีเครื่องปรุงเพื่อชูวัตถุดิบหลัก โดยหน้าตาและรสชาติของอาหารคือผลการตรวจระบุเพศนก ซึ่งวัตถุดิบหลักก็คือ สารพันธุกรรมชนิด DNA ที่ได้จากการสกัดจากตัวอย่างเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของตัวนก โดยทั่วไปตัวอย่างที่นิยมคือ ตัวอย่างหยดเลือดบนกระดาษกรองขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 เซนติเมตร หรือเลือดประมาณ 5-10 ไมโครลิตร ซึ่งเก็บเลือดจากวิธีตัดบริเวณปลายเล็บเท้า นอกจากนี้ยังสามารถใช้ตัวอย่างขนนกที่มีกระเปาะขนประมาณ 3-5 เส้น หรือตัวอย่างเยื่อหุ้มเปลือกไข่จากเปลือกไข่ของลูกนกที่เพิ่งฟัก ซึ่งวิธีการเก็บตัวอย่างเหล่านี้เป็นวิธีที่อันตรายค่อนข้างน้อยต่อตัวนก
ภาพที่ 2 การตรวจเพศนกด้วยวิธี PCR สามารถตรวจได้จากหยดเลือด ขนนกที่มีกระเปาะขน หรือเยื่อหุ้มเปลือกไข่ของลูกนกเพิ่งฟัก
สำหรับเครื่องปรุงเพื่อชูวัตถุดิบหลักคือ ไพรเมอร์จำเพาะ ซึ่งออกแบบเพื่อระบุความแตกต่างของชิ้นยีนทั้งขนาดและจำนวนลำดับสารพันธุกรรมภายในโครโมโซม Z และ W ดังนั้นหน้าตาและรสชาติของอาหารที่ได้จากการทำ PCR ก็จะแตกต่างกันตามวัตถุดิบหลัก ถ้าวัตถุดิบหลักเป็นเพศผู้จะได้หน้าตาของอาหารเพียงขนาดเดียวจากโครโมโซม Z แต่ถ้าวัตถุดิบหลักเป็นเพศเมียจะได้หน้าตาของอาหาร 2 ขนาดซึ่งเป็นของโครโมโซม Z และ W
ภาพที่ 3 แผนภาพจำลองผลการระบุเพศนกด้วยวิธี PCR ที่ขึ้นกับโครโมโซมเพศที่แตกต่างของนก
แต่เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่านกหรือสัตว์ปีกบนโลกใบนี้มีหลายชนิด และปัจจุบันไพรเมอร์จำเพาะสำหรับตรวจระบุเพศนกถูกออกแบบมาหลายคู่ (3, 4, 5, 6, 7) ไพรเมอร์แต่ละคู่มีความสามารถตรวจระบุเพศได้ครอบคลุมชนิดนกหรือชนิดสัตว์ปีกไม่เท่ากัน ซึ่งก็เหมือนเครื่องปรุงในท้องตลาดที่มีมากมายหลายชนิดหลายยี่ห้อ และเครื่องปรุงแต่ละชนิดหรือแต่ละยี่ห้อมีความสามารถชูรสชาติของวัตถุดิบหลักได้แตกต่างกัน
เพราะฉะนั้น เคล็ดลับของการปรุงอาหารจานเด็ดจานนี้ก็คือ การเลือกเครื่องปรุงหรือการเลือกไพรเมอร์จำเพาะซึ่งเราต้องเลือกไพรเมอร์จำเพาะที่เหมาะสมสำหรับการตรวจระบุเพศของนกกรงหัวจุก จึงจะได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องและแม่นยำ เตือนแล้วนะ!!!
ดังนั้น ด้วยความสามารถของ PCR ตามที่กล่าวมาทำให้การระบุเพศของเจ้านกนักสู้เสียงทองตัวน้อยจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
ศูนย์เฝ้าระวังฯ ให้บริการตรวจเพศนกด้วยวิธี PCR
อ่านวิธีการเก็บตัวอย่าง การส่งตัวอย่าง และรายการตรวจของศูนย์เฝ้าระวังฯ คลิกที่นี่
เอกสารอ้างอิง
Laong S. Ecology and economic potential of red-whiskered bulbul-Pycnonotus jocosus. Bangkok: Wildlife Research Division, Wildlife Conservation Office; 2011.
Morinha F, Cabral JA, Bastos E. Molecular sexing of birds: A comparative review of polymerase chain reaction (PCR)-based methods. Theriogenology 2012;78(4):703-14.
Fridolfsson AK and Ellegren H. A Simple and universal method for molecular sexing of non-ratite birds. J Avian Biol 1999;30:116-21.
Griffiths R, Double MC, Orr K, Dawson RJ. A DNA test to sex most birds. Mol Ecol 1998;7: 1071-5.
Lee J, Tsai LC, Hwa PY, Chan CL, Huang A, Chin SC, et al. A novel strategy for avian species and gender identification using the CHD gene. Molec Cell Probes 2010;24:27-31.
Lee MY, Hong YJ, Park SK, Kim Y, Choi TY, Lee H, et al. Application of Two Complementary Molecular Sexing Methods for East Asian Bird Species. Genes Genomics 2008;30(4):365-72.
Mongkolphan C, Sangkachai N, Chamsai T, Sariya L, Benjaporn B, Suwanpakdee S. Genomic DNA sex identification in pet red whiskered bulbul (Pycnonotus jocosus) in Thailand. Jpn J Vet Res 2017;65(3):145-9.
ภาพประกอบบทความ
ภาพประกอบโดย Nafis Ameen จาก Wikimedia (CC BY-SA 4.0)
ปรุศก์ สุกใส
ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่นและสัตว์อพยพ
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล