การรักษาสภาพสัตว์หรือการสตัฟฟ์สัตว์
การรักษาสภาพร่างกายสัตว์ที่เสียชีวิตให้ดูเหมือนยังมีชีวิตหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “การสตัฟฟ์สัตว์” เป็นที่รู้จักและมีการทำกันมาอย่างยาวนาน แต่จะทำอย่างไรให้สัตว์สตัฟฟ์นั้นดูมีชีวิตและเหมือนจริงมากที่สุด ความรู้ด้านกายวิภาคของสัตว์และประสบการณ์ของผู้ทำจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งรวมถึงการจัดแสดงดังที่มักจะเห็นในพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ต้องอาศัยความรู้ทางนิเวศวิทยาและชีววิทยาร่วมด้วย
การสตั๊ฟฟ์สัตว์แบ่งได้ 2 แบบคือ
- การสตัฟฟ์สัตว์เพื่อการศึกษา เป็นการสตัฟฟ์สัตว์ที่เน้นการรักษาลักษณะภายนอกเพื่อใช้ศึกษาด้านอนุกรมวิธาน โดยมีป้ายกำกับเพื่อบอกรายละเอียดชนิด เพศ สถานที่และวันที่เก็บตัวอย่าง ชื่อผู้เก็บตัวอย่าง ขนาดและสีของตัวอย่าง
- การสตัฟฟ์สัตว์เพื่อการจัดแสดง เป็นการสตัฟฟ์สัตว์ที่มีการจัดท่าทางของสัตว์และจัดแสดงโดยอิงจากสภาพในธรรมชาติจึงต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น
สัตว์แต่ละประเภทแต่ละชนิดมีเทคนิคและวิธีการในการรักษาสภาพแตกต่างกัน นอกจากเทคนิคต่าง ๆ แล้ว วิธีการเก็บรักษาหนังและตัวอย่างสัตว์ให้ถูกวิธีหากยังไม่ได้ทำในทันทีก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สัตว์ที่จะสตัฟฟ์นั้นคงสภาพอยู่ได้นาน เช่น การเก็บรักษาตัวอย่างสัตว์หรือหนังสัตว์สำหรับนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ควรเก็บในอุณหภูมิที่ไม่สูงกว่า -18 องศาเซลเซียส และเก็บในถุงพลาสติกเพื่อรักษาความชื้นและป้องกันไม่ให้หนังสัตว์แห้ง ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ก่อนนำไปแช่แข็งควรนำอวัยวะภายในออกเพื่อป้องกันการเน่า จากนั้นขยายร่างกายส่วนต่าง ๆ ให้แผ่ออกเต็มที่เพื่อให้ความเย็นแทรกเข้าถึงอวัยวะทุกส่วนได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
ขั้นตอนการสตัฟฟ์สัตว์ด้วยเทคนิคพาราฟิน
ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างการสตัฟฟ์สัตว์ด้วยเทคนิคพาราฟินซึ่งเป็นเทคนิคการสตัฟฟ์สัตว์ที่ง่ายและขั้นตอนน้อยที่สุด เทคนิคนี้ใช้หลักการดึงน้ำออกจากเซลล์ด้วยเอทานอลแล้วแทนที่ด้วยพาราฟินหลอมเหลว เหมาะสำหรับการสตัฟฟ์สัตว์ที่มีขนาดเล็กและมีน้ำในร่างกายน้อย ได้แก่ กลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลาน โดยมีวิธีการดังนี้
1. ใช้เข็มทิ่มบริเวณขาและหางของสัตว์ตัวอย่าง เพื่อให้สารเคมีซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อได้ทั่วถึง ในกรณีที่หางค่อนหนาให้กรีดหางทางด้านล่างด้วย
ภาพ การกรีดผิวหนังเพื่อเตรียมให้สารเคมีซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อ
2. ผ่าเปิดช่องท้องเพื่อให้สารเคมีซึมเข้าไปอย่างทั่วถึง จากนั้นยัดสำลีเข้าไปในช่องท้องให้ได้สัดส่วน โดยไม่ต้องนำอวัยวะภายในออก เนื่องจากสัตว์ที่ตายแล้วขนาดของช่องท้องและอวัยวะภายในจะมีการเปลี่ยนขนาดและรูปร่าง การยัดสำลีเข้าไปภายในช่องท้องจะช่วยให้สัตว์มีขนาดและสัดส่วนเหมือนตอนมีชีวิต
ภาพ การเปิดและยัดสำลีในช่องท้อง
3. กรณีสัตว์ที่มีรยางค์ขา เช่น กิ้งก่า ตุ๊กแก ใช้ลวดแทงบริเวณฝ่าเท้าจากขาข้างหนึ่งไปยังขาอีกข้างหนึ่ง (ทำเหมือนกันทั้งขาหน้าและขาหลัง)
ภาพ การใช้ลวดแทงบริเวณฝ่าเท้าจากขาข้างหนึ่งไปยังขาอีกข้างหนึ่ง
4. ใส่สำลีเข้าไปในช่องท้องและคอให้ผิวหนังตึง จากนั้นใช้เข็มแทงบริเวณปลายปากล่างเพื่อให้ปากปิด ในขั้นตอนนี้สามารถใส่ตาปลอมเข้าไปบริเวณตำแหน่งตาได้เลยโดยไม่ต้องเอาตาจริงออก หรือหากใส่ตาหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมด สามารถทำได้โดยการกรีดบริเวณตาจริงแล้วจึงใส่ตาปลอมเข้าไป
ภาพ การใส่สำลีในช่องท้องและคอ
5. นำสัตว์วางบนแผ่นรอง (ไม้ หรือ ฟิวเจอร์บอร์ด) จัดท่าทางให้เหมือนธรรมชาติ โดยใช้หมุดปักบริเวณด้านข้างผิวหนัง (ห้ามปักลงไปบนตัวสัตว์ เนื่องจากจะทำให้เกิดรูบริเวณผิวหนัง) เพื่อให้สัตว์ที่จัดท่าทางแล้วไม่ขยับและเสียรูปทรง
ภาพ จัดท่าทางของสัตว์บนแผ่นไม้หรือพลาสติกลูกฟูก
6. นำสัตว์ที่จัดท่าทางและยึดบนแผ่นรองแล้วแช่ในสารละลายฟอร์มาลิน ความเข้มข้น 4% ในภาชนะที่มีฝาปิดเป็นเวลา 1 วัน สารละลายฟอร์มาลินจะช่วยให้เนื้อเยื่อของสัตว์แข็งและเป็นการทำให้สัตว์คงสภาพอยู่ในท่าที่จัดไว้
ภาพ นำสัตว์ที่จัดท่าทางและยึดบนแผ่นรองแล้วแช่ในสารละลายฟอร์มาลิน ความเข้มข้น 4% ในภาชนะที่มีฝาปิดเป็นเวลา 1 วัน
7. จากนั้นนำสัตว์ตัวอย่างแช่ในเอทานอล ความเข้มข้นตั้งแต่ 50% – 95% โดยค่อย ๆ เปลี่ยนความเข้มข้นเพื่อดึงน้ำออกจากเซลล์ ดังนี้
- แช่ในเอทานอล ความเข้มข้น 50% เป็นเวลา 1 วัน
- แช่ในเอทานอล ความเข้มข้น 60% เป็นเวลา 1 วัน
- แช่ในเอทานอล ความเข้มข้น 70% ในขั้นตอนนี้สามารถแช่ทิ้งไว้ได้นานหลายวัน
- เพิ่มความเข้มข้นของเอทานอลเป็น 80% 90% และ 95% โดยแต่ละความเข้มข้นสามารถแช่สัตว์ไว้ได้มากกว่า 2 วัน ขึ้นอยู่กับขนาดตัวและความหนาของหนังสัตว์
- หลังการแช่สัตว์ในเอทานอล ให้ทำการแช่ในโพรพานอล เป็นเวลา 2-3 วัน
ภาพ นำสัตว์แช่แอทานอล และโพรพานอล
8. เตรียมสารละลายผสมระหว่างโพรพานอลและพาราฟินที่หลอมเหลวแล้ว ในอัตราส่วน 1 : 1 โดยรอให้พาราฟินมีความร้อนลดลง สังเกตจากพาราฟินเริ่มจับตัวแข็งที่ก้นภาชนะแล้วจึงเทโพรพานอลลงไปในภาชนะเดียวกัน จากนั้นจึงนำสัตว์ลงไปแช่ เป็นเวลา 2 วัน รักษาสารละลายให้อยู่ในสถานะของเหลวด้วยการนำไปใส่ในตู้ควบคุมอุณหภูมิที่ 65 องศาเซลเซียส ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด เพื่อป้องกันโพรพานอลระเหย
9. เปลี่ยนสารละลายเป็นพาราฟินหลอมเหลว แล้วแช่ในตู้ควบคุมอุณหภูมิที่ 65 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3-4 วัน โดยไม่ต้องปิดฝา เนื่องจากพาราฟินมีจุดหลอมเหลวสูง
ภาพ นำสัตว์แช่สารละลายผสมระหว่างโพรพานอลและพาราฟิน นำไปใส่ในตู้ควบคุมอุณหภูมิที่ 65 องศาเซลเซียส
10. เมื่อครบกำหนดนำสัตว์ออกมาวางผึ่งภายในตู้ควบคุมอุณหภูมิที่ 65 องศาเซลเซียส ให้น้ำพาราฟินหยดออก แล้วนำไปแช่ในน้ำเย็น พาราฟินบางส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่ที่ตัวสัตว์สามารถใช้มีดขูดหรือน้ำมันเบนซีนเช็ดออกได้
ภาพ นำสัตว์มาวางผึ่งไว้ และนำไปแช่น้ำเย็น
11. แต่งสีให้เหมือนจริงโดยใช้สีน้ำมัน
ภาพ ตัวอย่างสัตว์สตัฟฟ์
การรักษาสภาพสัตว์หรือการสตัฟฟ์สัตว์นั้นมีความสำคัญอย่างไร?
นอกจากใช้ในการศึกษาเกี่ยวกับอนุกรมวิธานแล้ว ยังได้รับความนิยมในการใช้เพื่อตกแต่งสถานที่ ใช้เป็นตัวแทนเก็บความทรงจำระหว่างสัตว์เลี้ยงกับเจ้าของ ความสำคัญอีกประการ คือ การผลิตสัตว์สตัฟฟ์และการจัดแสดงโดยเน้นการอ้างอิงให้ใกล้เคียงสภาพธรรมชาติมากที่สุดจะเป็นการให้ความรู้ ปลูกฝังและสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแก่ผู้เข้าชมได้ ซึ่งทำให้สัตว์สตัฟฟ์มีคุณค่ามากกว่าความสวยงามหรือการดูเพื่อความเพลิดเพลิน
ภาพประกอบบทความ
ขอบคุณภาพจาก พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ตติยนุช แช่มใส
ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่นและสัตวอพยพ
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล