สำหรับผู้เลี้ยงสัตว์

สำหรับเกษตรกร

    นอกเหนือจากการบริการทางด้านการเรียนการสอนแล้ว ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ตะหนักถึงความสำคัญแก่ประชาชนชาวไทย ที่ทำอาชีพเกษตรกรเพื่อเลี้ยงดูตนเอง ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ได้มีงานวิจัยหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ปศุสัตว์ โภชนาการสัตว์ ที่เป็นประโยชน์แก่เกษตรกร เพื่อสามารถนำไปใช้ต่อยอดทางด้านการเกษตรได้ ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์หวังว่างานวิจัย และองค์ความรู้ต่างๆจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรทุกคน เพื่อเป็นการพัฒนาประเทศไทยทางด้านการเกษตร ปศุสัตว์อย่างยั่งยืน

สำหรับผู้เลี้ยงม้า

การจัดการอาหารม้าเบื้องต้น : เรื่องยากที่คิดว่าง่าย
       ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยเริ่มหันมาสนใจเลี้ยงม้ากันมากขึ้น แต่ปัญหาโรคม้าที่เกิดจากการเลี้ยงม้าไม่ถูกวิธี ยังคงเป็นสิ่งที่สัตวแพทย์พบเห็นอยู่เป็นประจำ เช่น ม้าเจ็บขา ม้ามีแผลจากสิ่งแหลมคมภายในคอก ม้าปวดท้อง เป็นต้น การจัดการดูแลเบื้องต้นภายในคอกม้าเป็นสิ่งที่หลายคนอาจคิดว่าม้าเลี้ยงง่าย แต่จริงๆแล้วม้าเป็นสัตว์ต้องการความละเอียดจุกจิกค่อนข้างมาก เพราะสิ่งที่เราคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆบางอย่างอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตม้าได้
ม้าควรกินอาหารแบบไหน ควรให้อาหารกี่มื้อ?
หลักการให้อาหารม้าแบ่งตามลักษณะอาหารมีสองแบบ คือ อาหารหยาบ (เช่น หญ้าชนิดต่างๆ) และ อาหารข้น (อาหารเม็ดที่มีการเสริมคุณค่าทางอาหาร)
       หลักการให้อาหารหยาบในม้า โดยธรรมชาติแล้วม้าเป็นสัตว์ที่เล็มกินหญ้า 16-20 ชั่วโมงต่อวัน เดินไปเล็มหญ้าไปเรื่อยๆ ดังนั้นเราควรจัดสรรให้ม้ามีหญ้ากินเกือบตลอด 24 ชั่วโมง การที่ม้ามีหญ้ากินตลอดจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อโรคแผลในกระเพาะอาหาร ทั้งยังช่วยให้ลำไส้ของม้ามีการเคลื่อนที่ทำงานได้ตามปกติ หญ้าที่เรามักเห็นตามฟาร์มให้กันบ่อยๆ คือ หญ้าแพงโกล่า หญ้าขน ข้อดีของหญ้าสองชนิดนี้คือ ราคาไม่แพงมาก ปลูกขึ้นง่าย มีสารอาหารพอประมาณ ส่วนหญ้าอัลฟาฟ่า หญ้าทีโมที เป็นหญ้าที่มีคุณค่าทางอาหารสูงแต่ราคาแพง ส่วนหญ้าเนเปียร์ที่ปกติเอามาใช้เลี้ยงวัว เป็นหญ้าที่มียางเหนียว ม้าไม่สามารถเคี้ยวให้ขาดละเอียดด้วยตัวเองและจะทำให้หญ้าอุดตันในกระเพาะอาหาร ส่งผลให้ม้าเกิดอาการเสียดท้องและเสียชีวิตได้ ก่อนให้หญ้าเนเปียร์คนเลี้ยงจำเป็นจะต้องสับเป็นท่อนเล็กๆก่อนให้ม้ากิน หากไม่แน่ใจวิธีให้หญ้าเนเปียร์ก็ไม่ควรให้ม้ากิน การปล่อยแปลงม้าในทุ่งหญ้ามีข้อดีในเรื่องการลดต้นทุนแต่ให้ระวังการปล่อยม้าในช่วงหลังฝนตกใหม่ๆ เพราะในแปลงปล่อยจะมีหญ้าอ่อน บ่อยครั้งที่หญ้าอ่อนเป็นตัวการที่ทำให้ม้าท้องอีด เนื่องจากม้าหมักหญ้าอ่อนในลำไส้แล้วเกิดแก๊สมากเกินไป จึงอยากให้เฝ้าระวังในจุดนี้ด้วย
       หลักการให้อาหารข้น หลายคนชอบเข้าใจผิดว่าสามารถกินอาหารเป็นมื้อใหญ่ๆได้เหมือนคน สุนัข หรือวัว จริงๆแล้วม้าเป็นสัตว์กินพืช (กินพืชเท่านั้น) ลักษณะการกินอาหารข้นหรืออาหารเม็ดของม้าจะเป็นลักษณะกินอาหารทีละน้อยแต่บ่อยๆ เพราะในอดีตธรรมชาติม้าเป็นสัตว์ที่ถูกล่า การกินอาหารมื้อใหญ่ปริมาณมากจะทำให้จุกเสียดท้องเวลาวิ่งหนีสัตว์ผู้ล่า ทำให้ม้ามีการปรับตัวให้กินน้อยๆแต่บ่อยๆ ส่งผลถึงลักษณะการกินของม้าในปัจจุบันที่แม้จะเป็นม้าเลี้ยงก็ตามก็ควรจะแบ่งให้อาหารเม็ดอย่างน้อย 4 มื้อต่อวัน ในวันหนึ่งม้าควรกินอาหารเม็ดไม่เกิน 1% ของน้ำหนักตัวต่อวัน เช่น ม้าน้ำหนัก 200 กิโลกรัม ใน 1 วันสามารถกินได้ 1% ของน้ำหนักตัว คือ 2 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งใน 2 กิโลกรัมนี้จะต้องแบ่งออกเป็นอย่างน้อย 4 มื้อห่างกัน ดังนั้นในหนึ่งมื้อม้าสามารถกินอาหารเม็ดได้ไม่เกิน ครึ่งกิโลหรือ 5 ขีดต่อวัน (หรือแบ่งให้มากกว่า 4 มื้อก็ได้) ทั้งนี้ปริมาณอาหารที่ให้ควรพิจารณาควรพิจารณาดูจากรูปร่างความอ้วนผอม และน้ำหนักของม้าด้วย ม้าที่ผอมมาก เจ้าของอาจให้อาหารเต็มที่คือ 1% ของน้ำหนักตัวต่อวัน แต่ม้าที่อ้วนมากควรปรับลดอาหาร เพราะม้าที่อ้วนมากจะมีผลต่อสุขภาพ เจ็บกีบ เจ็บขาได้ง่าย หลังจากปรับปริมาณอาหารแล้วควรคอยสังเกตม้าทุกสัปดาห์ว่าม้าอ้วนขึ้นหรือซูบผอมเกินไปหรือไม่
รู้ได้อย่างไรว่าม้าป่วย ม้าปวดท้อง?
       อาการที่ม้าปวดท้องหรือคำในวงการม้าคือเสียด (ซึ่งไม่มีเจ้าของหรือหมอคนไหนอยากเจอม้าเสียด เพราะส่วนใหญ่ถ้าม้าเสียด เจ้าของม้า คนเลี้ยง หรือหมออาจต้องเดินจูงม้ากันทั้งวันทั้งคืน) สาเหตุหลักอย่างหนี่งที่ทำให้ม้าเสียดได้คือ อาหาร เช่น ให้อาหารเม็ดมากเกินไปจนอุดตันในลำไส้ ท้องอืด หรือช่วงที่ฝนตกบ่อยๆ หญ้าแห้งหรืออาหารเม็ดเปียกน้ำ ขึ้นรา แล้วเอาไปให้ม้ากิน ทั้งนี้หลังฝนตกใหม่ๆก็ไม่ควรปล่อยม้าเล็มหญ้า เพราะในแปลงจะมีหญ้าอ่อนขึ้น อาการของม้าปวดท้อง มักมีอาการดังต่อไปนี้ (อาจเกิดอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอาการร่วมกันก็ได้) ม้าเตะท้อง มองท้อง คุ้ยพื้น ล้มตัวนอน ลงไปกลิ้ง ไม่กินอาหารเม็ดหรือหญ้า หากพบอาการเหล่านี้ให้รีบติดต่อสัตวแพทย์โดยด่วน เพราะอาการเสียดท้องเป็นอาการอันดับหนึ่งที่ทำให้ม้าเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันเวลาและถูกวิธี
       คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ยินดีให้คำปรึกษาแนะนำแก่เกษตรกรหรือผู้เลี้ยงม้าทุกท่าน เจ้าของม้าทุกคนคงไม่อยากให้ม้าของตัวเองป่วย ดังนั้นการป้องกันโรคที่ดีที่สุดมาจากจัดการเลี้ยงดูที่เหมาะสม สิ่งที่นำเสนอวันนี้เป็นเพียงเรื่องการจัดการด้านอาหารคร่าวๆ แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมากๆ เพราะม้าต้องกินทุกวัน หากม้ากินอาหารที่ดี สารอาหารที่ดีย่อมทำให้สุขภาพม้าแข็งแรง แต่หากกินอาหารผิดประเภท เช่น ให้ม้ากินอาหารหมู อาหารวัว ผลเสียก็จะสะสมอยู่ในตัวม้าโดยที่เราไม่รู้ แล้วม้าจะเจ็บป่วยต่อไปในอนาคต

ขอขอบพระคุณท่านผู้อ่านทุกท่าน ขอให้ท่านผู้อ่านและม้าของทุกท่านสุขภาพแข็งแรงครับ
น.สพ. ณัฐวุฒิ นุชประยูร
คลินิกม้า มหาวิทยาลัยมหิดล

โภชนศาสตร์สัตว์

    การประสบความสำเร็จในอาชีพการทำฟาร์มปศุสัตว์ในประเทศไทยหรือทั่วโลก มักขึ้นอยู่กับปัจจัยการผลิตปศุสัตว์ ซึ่งประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก คือ

    1. การคัดเลือกพันธุ์สัตว์ที่มีศักยภาพทางพันธุกรรมในการให้ผลผลิตสูง 
    2. การจัดการฟาร์มด้านสุขภาพสัตว์และระบบการเลี้ยงปศุสัตว์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
    3. การจัดการด้านโภชนาการและการให้อาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมกับการให้ผลผลิตตามศักยภาพทางพันธุกรรมของสัตว์

 แต่จากการศึกษาต้นทุนของปัจจัยทั้งสามปัจจัยข้างต้นจากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศพบว่า ต้นทุนทางด้านอาหารสัตว์เป็นต้นทุนหลักในการผลิตปศุสัตว์ โดยคิดเป็น 50-80 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนทั้งหมด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของปศุสัตว์ที่เลี้ยง เช่น การเลี้ยงสุกรขุนอาจมีต้นทุนสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และการเลี้ยงโครีดนมอาจมีต้นทุนสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนทั้งหมด ดังนั้น ในอาชีพการเลี้ยงปศุสัตว์ที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องมีข้อมูลทางโภชนาการของวัตถุดิบอาหารที่ใช้เลี้ยงเพื่อให้ตรงกับความต้องการสารอาหารของปศุสัตว์ชนิดต่างๆ เพื่อให้ปศุสัตว์สามารถแสดงศักยภาพการให้ผลผลิตตามลักษณะทางพันธุกรรมของสัตว์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดผลกำไรหรือขาดทุนในการทำฟาร์มปศุสัตว์

    ดังนั้น คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นความสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ในการลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะทางด้านการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของวัตถุดิบอาหารสัตว์และอาหารสัตว์ผสมสำเร็จรูป ซึ่งจะเป็นแนวทางในการผลิตอาหารสัตว์ที่เหมาะสมกับความต้องการสารอาหารของสัตว์ โดยทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการโภชนศาสตร์สัตว์เพื่อรับบริการตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของวัตถุดิบอาหารสัตว์และอาหารผสมสำเร็จรูปต่างๆ ซึ่งมีการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีต่างๆ ได้แก่ ค่าวัตถุแห้ง ค่าความชื้น ค่าอินทรีย์วัตถุ โปรตีนหยาบ ไขมันหยาบ กากใยหยาบ คาร์โบไฮเดรตหยาบ ค่าพลังงานในอาหาร กากใยอาหารสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้อง องค์ประกอบของกรดไขมันและแร่ธาตุ เป็นต้น

    โดยทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการโภชนศาสตร์สัตว์ เพื่อรองรับทั้งการเรียนการสอน การบริการวิชาการ และการวิจัย โดยใช้เครื่องมือที่ได้มาตรฐานระดับสากลและตรวจสอบคุณภาพการวิเคราะห์ในระดับมาตรฐานการวิจัยและการบริการด้วยระบบการบริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ตรวจวินิจฉัยทางการสัตวแพทย์ (ศวส) จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางห้องปฏิบัติการโภชนศาสตร์สัตว์จะได้รับการใช้บริการจากเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป


โภชนศาสตร์สัตว์
อ.ดร.สุรศักดิ์ จิตตะโคตร์
ภาควิชาปรีคลินิกและสัตวศาสตร์ประยุกต์

ที่อยู่

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เลขที่ 999 ถ.พุทธมณฑลสาย4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

หมายเลขติดต่อ

คณะสัตวแพทยศาสตร์ : 02-441-5242
โรงพยาบาลสัตว์ประศุอาทร : 02-441-5245-6
โรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน : 034-585-101-3
โทรสาร : 02-441-0937

© 2020 Mahidol University Faculty of Veterinary Science - All Rights Reserved